ทางเดินอาหารของคนเราประกอบด้วยหลายอวัยวะ ตั้งแต่ปากที่รับอาหาร ฟันเคี้ยวบดอาหาร หลอดอาหารลำเลียงลงสู่กระเพาะที่มีน้ำย่อยที่มีฤทธิ์เป็นกรด ลงไปถึงลำไส้เล็ก (ยาวประมาณ 7 เมตร) ที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารและน้ำเข้าสู่ร่างกาย กากอาหารที่ไม่ถูกดูดซึมจะถูกส่งต่อไปยังสำไส้ใหญ่ (ยาวประมาณ 1.5 เมตร) เพื่อขับถ่ายออกจากร่างกาย
การถ่ายอุจจาระ จึงเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายของการย่อยอาหาร ซึ่งสามารถมีความถี่ในผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่วันละ 3 ครั้ง จนถึงเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในเด็กเล็กวันละ 2-3 ครั้ง และ ในเด็กทารกวันละ 3-4 ครั้ง
อาการท้องผูก โดยนิยามคือจำนวนครั้งของการถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาจมีปัญหาอื่นๆ เกิดร่วมกับอาการท้องผูกด้วยเช่น ต้องเบ่งถ่าย ใช้เวลาในการถ่ายนาน อุจจาระแข็ง มีอาการเจ็บเวลาถ่ายเนื่องจากต้องเบ่ง ปวดท้อง ท้องอืดเพราะมีแก๊สเยอะ จนถึงความรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่หมด
สาเหตุของท้องผูก
ส่วนใหญ่เป็น functional constipation คือเกิดจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว เช่นในผู้สูงอายุบางราย จึงทำให้การกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อย
หลายๆ ครั้ง อาการท้องผูก อาจมีสาเหตุจากการทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาที่เป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ยาต้านซึมเศร้า และยาอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ anticholinergic effect ซึ่งทำให้ร่างกายลดการขับสารหล่อลื่นในทางเดินอาหาร ลดการย่อยอาหาร และลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กและสำไส้ใหญ่ มีผลทำให้ท้องผูกได้
สาเหตุส่วนน้อยแต่อาจเกิดขึ้นได้คือ มีความผิดปกติทางร่างกายแต่กำเนิด เช่น ในโรค Hirschsprung’s Disease (บางส่วนของสำไส้ หรือลำไส้ทั้งหมด ไม่มี ganglion cell ทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้) ลำไส้ตีบแต่กำเนิด หรือ ทวารหนักไม่มีช่องแต่กำเนิด
หน้าที่ของลำไส้ใหญ่ คือ ดูดน้ำและเกลือแร่บางส่วนกลับเข้าสู่ร่างกาย ยิ่งกากอาหารอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน ยิ่งทำให้มีการดึงน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย มีผลให้อุจจาระแห้งแข็งมากขึ้น ในคนปกติ หากกลั้นอุจจาระนานๆ จะพบว่าอุจจาระแข็งมากกว่าปกติ
ทราบสาเหตุของท้องผูกกันแล้ว ทีนี้มาดูเรื่องการรักษาและป้องกันอาการท้องผูก อย่างแรกเลยง่ายๆ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครับ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารเพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น สับปะรด แอ๊ปเปิ้ล มะละกอ จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวมากขึ้น และเพิ่มการขับถ่ายได้ รวมทั้งลดเวลาที่กากอาหารอยู่ในลำไส้ใหญ่นานจนเกิดการดูดกลับของน้ำ ซึ่งทำให้อุจจาระแห้งแข็งได้
- การออกกำลังกาย ทำให้มีการกระตุ้นการทำงานของร่างกายทุกๆ ส่วน รวมถึงระบบทางเดินอาหาร และทำให้อาการท้องผูกเรื้อรังดีขึ้นด้วย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยแก้อาการท้องผูกในระยะยาว แต่สำหรับอาการท้องผูกที่ต้องแก้ปัญหาเฉียบพลันก็อาจต้องใช้ยาและ/หรืออาหารเสริมรักษา หรือบางท่านก็อาจต้องใช้ในการป้องกันครับ
- น้ำเกลือสวนทวาร มีทั้งสำหรับผู้ใหญ่ 20 ml และสำหรับเด็ก 10 ml โดยมีส่วนประกอบของ sodium chloride 15% w/v ช่วยกระตุ้นลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้บีบตัวขับถ่าย และทำให้อุจจาระที่แห้งแข็งนิ่มขึ้น
- Glycerin เหน็บทวาร มีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ช่วยทำให้อุจจาระนิ่มและลื่นขึ้น หลายคนอาจไม่ค่อยชอบใช้ยาเหน็บทวาร แต่จริงๆสะดวก และทำให้อุจจาระส่วนปลายที่แห้งแข็งมีความนุ่มและลื่นขึ้น ทำให้ถ่ายง่ายขึ้น (ผู้ป่วยบางรายที่เคยใช้นิ้วมือช่วยแคะเพื่อถ่ายเนื่องจากอุจจาระแข็งมาก ใช้ยาเหน็บนี้แล้วชอบมาก)
- ยาระบายที่มีส่วนประกอบของ Lactulose (Duphalac) ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ (disaccharide) ที่เกิดจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 2 โมเลกุล คือ fructose 1 โมเลกุล และ galactose 1 โมเลกุล ซึ่งร่างกายไม่มีเอ็นไซม์ที่สามารถย่อยน้ำตาล lactulose ได้ จึงทำให้ lactulose ถูกเคลื่อนไปตามทางเดินอาหาร และช่วยกักน้ำไว้ในลำไส้เล็ก ทำให้กากอาหารนิ่ม เมื่อเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ก็ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ เนื่องจาก lactulose เป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้ ทำให้เกิดสาร acetate ที่มีฤทธิ์เป็น osmotic laxative และช่วยกระตุ้นให้เกิดการบีบเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มและถ่ายง่าย นอกจากนี้ Lactulose ยังมีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ในสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุได้
- ยาระบายที่มีส่วนผสมของมะขามแขก มีฤทธิ์เป็น stimulant laxative ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว ออกฤทธิ์ภายใน 6-8 ชั่วโมงหลังรับประทาน ไม่ควรใช้นานเกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากการใช้ต่อเนื่องจากอาจทำให้เกิดการดูดซึมเกลือแร่โดยเฉพาะอย่าง โปตัสเซียมและแมกนีเซียม เข้าสู่ร่างกายน้อยลง ยกเว้นการใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
- Dietary supplement fiber เช่นในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม Synovy มีส่วนประกอบของสารสกัดจากธรรมชาติที่เป็น dietary fiber ชงดื่มกับน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนนอน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายในตอนเช้า โดยไม่มีอาการปวดมวนในท้อง
- ยาระบาย Bisacodyl เม็ดยาจะถูกเคลือบไว้ให้ไปแตกตัวในลำไส้ จึงไม่ควรเคี้ยว หรือทำให้เม็ดยาแตก ใช้ได้ดีในท้องผูกเป็นครั้งคราว แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เนื่องจากจะทำให้ลำไส้ขี้เกียจ และต้องเพิ่มขนาดยาในการใช้ (มีรายงานการใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นปี ผู้ใช้ต้องใช้ขนาดสูงถึง 10 กว่าเม็ดจึงจะได้ผล)
จะเห็นว่าตัวช่วยแก้ปัญหาท้องผูกมีหลายตัวทีเดียว ไม่ต้องหน้านิ่วคิ้วขมวดกันอีกแล้วนะครับ แต่จะเลือกตัวไหนที่เหมาะสมและได้ผลยั่งยืนก็แล้วแต่เคส สามารถปรึกษา ภ.ก.ป๊อป ได้ครับ
Great content! Super high-quality! Keep it up! 🙂
Thank you so much