พาราเซตามอล (Paracetamol หรือ Acetaminophen) ยาแก้ปวด-ลดไข้ที่เราคุ้นเคยกันที่สุด หยิบกินกันจนเป็นเรื่องปกติ ใช้กันตั้งแต่เด็กจนโต แต่แน่ใจหรือเปล่าว่าคุณรู้จักยาสามัญประจำบ้านตัวนี้ดีแล้ว
ในประเทศไทยเรา พาราเซตามอล มีหลายยี่ห้อ เช่น Tylenol, Panadol, SaRa เป็นต้น
ขนาดรับประทานที่ใช้ในผู้ใหญ่ คือ 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เวลาที่มีอาการปวดหรือมีไข้ ส่วนขนาดรับประทานในเด็กจำง่ายๆ คือ 10 – 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อครั้ง และให้ได้ทุก 6 ชั่วโมงเช่นกัน ตัวอย่าง ถ้าเด็กที่เป็นไข้ มีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม สามารถให้พาราเซตามอลได้ 150 – 225 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องดูความเข้มข้นของยาที่มีอยู่ด้วย เช่น มี Tylenol suspension รสเชอรี่อยู่ที่บ้าน ความเข้มข้น 160 มิลลิกรัม ต่อ 5 มิลลิลิตร (160 mg/5 ml) ก็สามารถให้เด็กทานได้ครั้งละ 5-7 มิลลิลิตร ทุก 6 ชั่วโมง แต่ถ้าที่บ้านมี SaRa รสสตรอเบอรี่ ความเข้มข้น 125 mg/5ml ก็สามารถให้เด็กทานยา SaRa ขวดนี้ ครั้งละ 6 – 9 มิลลิลิตร ทุก 6 ชั่วโมง
พาราเซตามอลเป็นยาคุ้นเคยที่เราหยิบกินเรื่อยๆ แต่ต้องจำไว้ว่า ห้ามกินเกินวันละ 6 เม็ด หรือ 3,000 มิลลิกรัม ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายได้
โดยปกติ ร่างกายของคนเราจะกำจัดยา พาราเซตามอลออกจากร่างกายโดยเปลี่ยนไปเป็นสารตัวอื่นๆที่ตับ ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะมีสารตัวหนึ่งชื่อ NAPQI ที่มีพิษต่อตับเกิดขึ้นมา ในคนปกติ สารตัวนี้จะถูก glutathione ที่ปล่อยมาจากตับมาจับ แล้วจึงขับสารนั้นออกทางไต หากเรากินพาราเซตามอลในปริมาณสูงเกิน glutathione ที่ร่างกายมีอยู่ไม่เพียงพอต่อการจับกับ NAPQI ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นอันตรายได้ ยาต้านพิษ (antidote) ของพาราเซตามอลคือ N-AcetylCysteine หรือ NAC ที่เป็นยาละลายเสมหะ แต่สามารถนำมาใช้แก้พิษของพาราเซตามอลได้ เนื่องจากเมื่อกินแล้วมันจะถูกดูดซึมและเปลี่ยนเป็น glutathione ได้ในร่างกาย จึงช่วยจับ NAPQI ที่ตับ แล้วขับออกทางปัสสาวะ จึงควรมี NAC ติดบ้านไว้ด้วย จะดีมาก