Silicones…ปลอดภัยกับเราแค่ไหน? อันตรายจริงหรือ? เพราะในผลิตภัณฑ์ของใช้ต่างๆล้วนแต่มีเขียนไว้บนฉลากว่ามีซิลิโคนเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวดผม โลชั่น เครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมาย วันนี้เภสัชป๊อปจะมาเล่าให้ฟังครับ
Silicones คืออะไร?
Silicones เป็นชื่อเรียกกลุ่มของสารประกอบ polymeric organosilicon ตัวอย่างของ Silicones ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายคือ Dimethicone ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Polydimethylsiloxane (PDMS) หรือ Dimethylpolysiloxane
Dimethicone ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากคุณสมบัติในความลื่นไหล โดยทั่วไป Dimethicone มีลักษณะใส ไม่เป็นพิษ ไม่ติดไฟ เราจึงมักเห็น Dimethicone ในแชมพูซึ่งทำให้ผมเงางามและลื่นสลวย, ใส่ในอาหารเพื่อให้ลดฟอง, ในงานก่อสร้างก็ถูกใช้เพื่อยึดติด และ/หรืออุดรอยรั่ว, ใช้เพื่อการหล่อลื่น, ใช้ในกระเบื้องป้องกันความร้อน
ในทางเภสัชกรรม มีการนำเอา Dimethicone มาผสมกับ Silicon Dioxide เพื่อให้ได้เป็น Activated dimethicone หรือ Simethicone และนำมาใช้เป็นยาลดแก๊ส แก้ท้องอืด
ในทางการแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่ง Dimethicone ถูกนำมาใช้ทำเปลือกชั้นนอกของวัสดุเสริมขนาดเต้านม ซึ่งภายในอาจบรรจุ Dimethicone หรือ Saline Solution (สารละลายน้ำเกลือ)
สำหรับสัตว์เลี้ยง Dimethicone ถูกนำมาใช้กำจัดเห็บหมัด โดยจะทำให้เห็บหมัดไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ และทำลายวงจรชีวิตของแมลงเหล่านี้ในที่สุด
ในอุตสาหกรรมอาหาร มีการเติม Dimethicone ในน้ำมันพืช เพื่อใช้เป็นสารลดฟองและทำให้น้ำมันไม่กระเด็นเวลาทอด
Dimethicone ยังถูกใช้เป็นสารหล่อลื่นในถุงยางอนามัย
ทำไมจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มี Silicones เป็นส่วนผสม
ถึงแม้ Silicones จะไม่เป็นพิษและมีอันตรายต่ำต่อมนุษย์ ยังมีเหตุผลอื่นที่ควรพิจารณาหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มี Silicones เป็นส่วนผสม
- Silicones เมื่อถูกทาบนผิวจะเป็นเหมือนเอาพลาสติกมาห่อผิว แม้จะป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นได้ แต่ก็จะทำให้สิ่งสกปรก เหงื่อ เชื้อแบคทีเรีย ไขมัน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว สะสมหมักหมมอยู่บนผิวหนัง
- เมื่อมีไขมัน เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และแบคทีเรียอยู่ใต้ชั้นของ Silicones เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดสิวอุดตัน หรือสิวอักเสบได้
- นอกจากทำให้เกิดสิวแล้ว Silicones ยังกันไม่ให้ผิวได้รับความชุ่มชื้นจากภายนอก อาจทำให้ผิวแห้ง ร่วมกับการที่เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วไม่สามารถถูกผลัดออกไปได้ มีผลทำให้ผิวหนังมีสภาพแห้งและหมองได้
- การที่ผิวหนังไม่สามารถผลัดเซลล์ที่ตายแล้วได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากชั้นของ Silicones กั้นไว้ มีผลทำให้การเจริญของเซลล์ใหม่เกิดขึ้นช้าลง อาจทำให้การสร้างเม็ดสีของผิวหนัง รอยแดง หรือแผลเป็นเกิดขึ้นได้
- ชั้นของ Silicones ที่เกิดขึ้นยังไปขวางกั้นการดูดซึมสารสำคัญในเวชสำอางหรือสารสำคัญที่ช่วยบำรุงผิว ทำให้ประสิทธิภาพที่ต้องการลดลง!!!
- Silicones ล้างออกยาก การล้างผิวหน้าที่มีเครื่องสำอางที่มี Silicones เป็นส่วนผสม ครั้งเดียวมักไม่พอ เช่นเดียวกับในครีมนวดผม ที่ถึงแม้จะล้างออกด้วยน้ำแล้ว ก็มักจะมีสิ่งตกค้างที่ทำให้เกิดสิวที่หลังและตีนผมได้
- Silicones โดยตัวมันเองทำให้รู้สึกว่าผิวเรียบลื่น แต่ที่จริงแล้วไม่ได้บำรุงผิวแต่อย่างใด
ดูอย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ใดมี Silicones บ้าง
ลองสังเกตบนฉลากว่ามีส่วนประกอบของสารที่มีชื่อลงท้ายดังต่อไปนี้หรือไม่
- Cones เช่น dimethicone, amodimethicone, cyclomethicone, methicone, trimethicone, trimethylsilylamodimethicone
- Conols เช่น dimethiconol
- Silanes เช่น bis-PEG-18 methyl ether dimethyl silane, triethoxycaprylylsilane, triethoxycaprylylsilane crosspolymer
- Siloxanes เช่น cyclopentasiloxane, polydimethylsiloxane, siloxane
นอกจากนี้ยังอาจมาในชื่อของ Acrylamides, Acrylates, Carbomers, Copolymers, Methacrylates, Polymers (เช่น polybutene, polyisobutene), Polyvinylpyrrolidone (PVP)
ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม Silicones เป็นสารเคมีที่เป็น non-biodegradable คือไม่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ ทำให้ตกค้างในดินและในน้ำ อาจเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ได้
ทั้งหมดนี่เองคือเหตุผลที่ว่าทำไมหลายผลิตภัณฑ์ยังคงใช้ซิลิโคนเป็นส่วนผสมอยู่ แต่หลายๆคนก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ครับ สำหรับร้านขายยา The Apothecary ของเรานั้น เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการนำผลิตภัณฑ์ที่มีซิลิโคนมาขายครับ